ประวัติราชวิทยาลัย

logo (1)

ความเป็นมาราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

“บิดาของงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูไทย” แต่เดิมในประเทศไทยไม่มีแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาก่อน พลตรีขุนประทุมโรคประหาร (ปทุม ศตะจูฑะ) ทจบการศึกษาเป็นรังสีแพทย์ แต่เนื่องจากท่านมีความสนใจ และ รักงานทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นพิเศษ ท่านจึงได้สละเวลาจากการทำงานในแผนกรังสี เพื่อมาให้การรักษาผู้ป่วย และได้จัดตั้งเป็นแผนกกายภาพบำบัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 ภายในพระราชวังพญาไทซึ่งพระบาท
สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เป็นสถานพยาบาลทหารในขณะนั้น(ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า)

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2483 พลตรีขุนประทุมโรคประหาร ได้เดินทางไปศึกษาวิชา Physical Medicine ที่ North Western University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงหลังจากกลับจากการศึกษาต่อ ท่านยังได้มีบทบาทในการฟื้นฟูผู้พิการอีกมากมาย อาทิเช่น ก่อตั้งหน่วยแขนขาเทียม การนำการรักษาโดย วิธีธาราบำบัดให้แก่เด็กพิการในช่วงที่เกิดโปลิโอระบาดในประเทศไทย และในครั้งนั้นงานทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูยังได้ รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานตึกวชิราลงกรณ์ธาราบำบัดเพื่อฟื้นฟูเด็กพิการ

จึงถือได้ว่าท่านพลตรีขุนประทุมโรคประหารเป็นผู้บุกเบิกวิชาแพทย์สาขา Physical Medicine หรือ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในปัจจุบันนั่นเอง

“ก่อตั้งชมรมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู”

หลังจากงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู และการรักษาทางกายภาพบำบัด เริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย จึงได้มีแพทย์ไปศึกษาต่อทางด้าน Physical Medicine and Rehabilitation มากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2515 กลุ่มแพทย์ที่ผ่านการอบรมจากต่างประเทศได้รวมตัวกันจัดตั้ง“ชมรมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู” ขึ้น โดยมี
วัตถุประสงค์เพื่อต้องการเผยแพร่ความรู้ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูให้แพทย์สาขาอื่น และโรงพยาบาลต่างๆได้รู้จักมากขึ้น โดยคณะกรรมการชมรมครั้งแรกได้แก่

  • พ.ญ. สุนิตย์ สุทธิสารรณกร ประธานชมรม
  • พล.ต.ต นพ.ม.ร.ว. ถวัลภากร วรวรรณ รองประธาน
  • ศ.กิตติคุณนพ.เสก อักษรานุเคราะห์ เลขานุการ

หลังจากมีการรวมตัวเป็นชมรม จึงสามารถสร้างงานทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น จนกระทั่งมีการเปิดตำแหน่งแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้นในหลายโรงพยาบาลนอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2518 วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎ โดย พ.อ.หญิงเรณู วิชยานนท์ ซึ่งดำรง

ตำแหน่งหัวหน้าแผนกกายภาพบำบัดในขณะนั้นได้ดำเนินการบรรจุวิชา Rehabilitation Medicine เข้าในหลักสูตรของสถาบันผลิตแพทย์ได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย จึงยิ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจในงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูมากขึ้น

“กำเนิดสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่ง ประเทศไทย”

เมื่อมีผู้ที่สนใจและทำงานในด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูมากขึ้น ในปีพ.ศ. 2522 จึงได้ร่วมผลักดันให้มีการ
เปิดสอบอนุมัติบัตรแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ต่อมา พ.ศ. 2525 แพทยสภาจึงได้อนุมัติให้มีการฝึกอบรมวุฒิบัตรแพทย์ประจำบ้านเฉพาะทางสาขา เวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยมีโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่เปิดอบรมแพทย์ประจำบ้าน และในปี พ.ศ. 2531 จึงสามารถจัดตั้ง
สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทยได้สำเร็จโดยมีคณะกรรมการ ดังนี้

  • พล.ต.ต นพ.ม.ร.ว. ถวัลภากร วรวรรณ     นายกสมาคม
  • ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.ฉัฐยา จิตประไพ เลขานุการ

“สู่ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู”

หลังจากก่อตั้งสมาคมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย คณะกรรมการทุกท่านได้ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ ต่อมาจึงได้ร่วมกันยื่นเรื่องต่อแพทยสภา จนกระทั่งสามารถจัดตั้งวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูขึ้นได้เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมี รศ.นพ.เยี่ยมมโนภพ บุนนาค ดำรงตำแหน่ง ประธานวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทยคนแรก

และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าให้วิทยาลัย
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเปลี่ยนฐานะเป็น
ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2542 โดย
มี

  • ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.อรฉัตร โตษยานนท์ ดำรงตำแหน่ง ประธานราชวิทยาลัยแพทย์

เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์คนแรกซึ่งถือว่าเป็นราชวิทยาลัยแพทย์เฉพาะทางลำดับที่ 12 และจากความวิริยะอุตสาหะ รวมถึงความเมตตาของคณาจารย์ทุกท่านที่ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ทำให้กลายเป็น ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูในปัจจุบันที่มีสมาชิกถึง 496 คน และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูทุกคนจะก้าวไปร่วมกัน เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยต่อไป